ส่วนสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 6 บูรณาการแก้ไขปัญหาฟาร์มโคนมเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
https://region6.dld.go.th/webnew/index.php/th/news-menu/livestock-news-menu?start=1950#sigFreeId9e16c98016
28 สิงหาคม 2563 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดน้ำท่วมและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จ.สุโขทัย โดยมี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีปศุสัตว์ นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายสุรพล ธัญญเจริญ ปศุสัตว์เขต 6 พร้อมทั้ง ข้าราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม โดยช่วงเช้าเดินทางไปยัง ศาลาอเนกประสงค์หมู่ 1 ต.ปากพระ อ.เมืองสุโขทัย จากนั้น เดินทางไปยัง วัดคลองโป่ง ต.สามเรือน อ.ศรีสำโรง ตลอดจนองค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจง ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก เพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์และความเสียหายในพื้นที่ต่างๆ พร้อมกันนี้ ได้มอบข้าวสาร หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน ตลอดจนชุดเวชภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพสัตว์ให้กับเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และให้กำลังใจเกษตรกร และพบปะ รับฟังปัญหาของเกษตรกร
นายประภัตร กล่าวว่า จากการเกิดพายุฮีโกสทำให้มีฝนตกหนักภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดวาตภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 21 ส.ค.63 - ปัจจุบัน รวม 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา แพร่สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก บึงกาฬ ร้อยเอ็ด อุดรธานี และจังหวัดยโสธร ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว 13 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.สุโขทัย และ จ.น่าน สำหรับ จ.สุโขทัย ช่วงที่ผ่านมาเกิดคันตลิ่งแม่น้ำยมขาดทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ปัจจุบันบริเวณคันขาดระดับลดลง ส่วนน้ำที่ล้นคันตลิ่งแม่น้ำยมใน อ.สวรรคโลก และ อ.ศรีสำโรง กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
ทั้งนี้ ได้รับรายงานความเสียหายเบื้องต้น จ.สุโขทัย (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ส.ค.63) ด้านพืช ประสบภัย 6 อำเภอ 30 ตำบล 174 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมือง อ.ศรีสำโรง อ.สวรรคโลก อ.กงไกรลาศ อ.ศรีสัชนาลัย และอ.ศรีนคร มีจำนวนครัวเรือนที่สบประภัย 11,491 ครัวเรือน เบื้องต้นด้านการเกษตรมีพื้นที่ได้รับผลกระทบแยกเป็น ด้านพืช เสียหาย 110,598 ไร่ 6 อำเภอ ด้านประมง 627 ไร่ ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบแต่ยังไม่พบความเสียหาย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น จนสถานการณ์คลี่คลายแล้ว จากนั้นจะเข้าไปเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
รมช.เกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น 1. ด้านพืช รัฐบาลจ่ายเป็นเงินค่าชดเชยกรณีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยข้าว ชดเชย 1,114 /ไร่ พืชไร่ชดเชย 1,148 บาท/ไร่ และพืชสวน ไม้ผลอื่นๆ ชดเชย 1,690 บาท/ไร่ ชดเชยไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่สำหรับการเยียวยาและฟื้นฟู กรมการข้าวจะเยียวยาค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว 15 กิโลกรัม/ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน10 ไร่ คิดเป็นเงิน 4,050 บาท เพื่อให้เกษตรกรได้เป็นค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวในฤดูปลูกถัดไป 2. ด้านปศุสัตว์กรมปศุสัตว์เตรียมเสบียงอาหารสัตว์ 5,615.56 ตัน หญ้าแห้ง 335 ตัน ยานพาหนะ 201 คัน ถุงยังชีพ 3,000 ชุด ทีมแพทย์ 119 ทีม หน่วยอพยพสัตว์/เคลื่อนที่เร็ว 119 หน่วย 357 คน และเวชภัณฑ์ดูแลสุขภาพสัตว์โดยได้แจกจ่ายเสบียงสัตว์ไปแล้ว 20.40 ตัน อาหารสัตว์อื่น 944 กิโลกรัม อพยพสัตว์ 18,908 ตัว รักษาสัตว์และเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ 2,206 ตัว และ 3. ด้านประมง ชดเชย 4,225 บาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 5 ไร่และสนับสนุนพันธุ์ปลา